"กรมการค้าต่างประเทศ" แนะเทคนิคเปิดช่องทางและโอกาสส่งออกอัญมณีไปต่างแดน

>>

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปัจจุบัน ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกไปยังต่างประเทศได้สูงและยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจประเภทนี้ กรมจึงได้จัดงาน “Bangkok Gems & Jewelry Fair” ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 63จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง”

งานในครั้งนี้สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ได้มีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ  ภายใต้ 7 หัวข้อ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญชั้นนำทั้งในและต่างประเทศเป็นเวลา 2 วัน สัมมนาหัวข้อที่ 1 ได้แก่ “Ways to Develop Modern Jewelry Design through Crossover” โดยมี Mrs. AiRan, SEO ตำแหน่ง President of Korea Jewelry Association จากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงโซล ได้บรรยายเกี่ยวกับตลาดอัญมณีในประเทศเกาหลีใต้ ที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ตลาด Fine Jewelry และWedding Jewelry ซึ่งในปัจจุบันการบริการจัดทำอัญมณีตามความต้องการของลูกค้า หรือ Made to order กำลังเป็นที่นิยม คาดว่าในปี 2020 ความนิยมจะเพิ่มสูงขึ้นอีก จากการนำเอกลักษณ์ของแต่ละเชื้อชาติในประเทศเกาหลีใต้ หรือ Ethnic Jewelry มาใช้ออกแบบให้มีความร่วมสมัย และสื่อถึงวัฒนธรรม เอกลักษณ์ ของแต่ละชนชาติ มาออกแบบเครื่องประดับในปัจจุบัน โดยใช้หลักการConvergence Jewelry ผสมผสานวัสดุอื่นกับการออกแบบอัญมณี

สัมมนาหัวข้อที่ 2  “Trend of Gems and Jewelry” โดยมี Mr.David Brough บรรณาธิการสื่อ Jewellery Outlook จากสคต. ณ กรุงลอนดอน ได้บรรยายถึงความเชื่องโยงในการนำทรัพยากรธรรมชาติมาออกแบบร่วมกับอัญมณี เช่น ปะการังสีสดใส นำมาออกแบบร่วมกับเพชรออกมาเป็นแหวน การนำมุกมาออกแบบร่วมกับเพชรออกมาเป็นต่างหู  เป็นต้น รวมถึงได้แนะนำถึงการสร้างเรื่องราวให้กับสินค้า (Story) ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เพิ่มขึ้น

สัมมนาหัวข้อต่อมา คือ “บุกจีนให้ดัง ปังแบบแบรนด์ใหญ่ ยุค 4.0” โดยมี นางรสริน ชวถาวรเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็กซี่ บิลเลี่ยนแนร์ จำกัด ได้บรรยายถึงประสบการณ์ในการส่งออกสินค้าและการทำการตลาดออนไลน์ในประเทศจีน  ในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารเป็นแบบไร้พรมแดน ซึ่งถือเป็นการประหยัดต้นทุนในการทำตลาด และสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง เนื่องจากจีนเป็นประเทศขนาดใหญ่และมีเมืองเศรษฐกิจมากมาย เช่น คุนหมิง หนานหนิง กวางสี เป็นต้น นอกจากนั้น ควรทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย เช่น ประชากรจีนใช้ Weibo แทน Facebook ในการนำเสนอหรือสร้างโปรไฟล์ ใช้ Alipay หรือ We Chat pay เพื่อการใช้จ่ายในแบบสังคมไร้เงินสด ใช้Baidu ในการสืบค้นข้อมูลแทน Google  ใช้ WeChat แทน Line ในการสื่อสาร เป็นต้น รวมถึงต้องศึกษาว่าพฤติกรรมของประชากรจีนมีความต้องการอัญมณีแบบใด และใช้ในโอกาสใด รวมถึงความเชื่อด้วย เช่น ในงานแต่งงาน ฝ่ายชายมักนิยมให้แหวนและสร้อยคอ เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก โดยมักจะผลิตจากเพชรหรือแพลทินัม ในเด็กทารกมักนิยมให้เครื่องเงิน โดยเชื่อว่าจะทำให้ทารกมีสุขภาพแข็งแรง กลุ่มผู้สูงอายุมักจะนิยมทองคำ แบบเรียบง่ายหรือแบบฝังทับทิมหรือมุก เพื่อแสดงถึงความร่ำรวย เป็นต้น

สัมมนาหัวข้อที่ 4  “Mastering the Art of Thai Jewelry Crafing Designing the Opportunity in Global Markets มีนายศรัณญ อยู่คงดี  Artist เจ้าของรางวัล DE-Mark ปี 2013 , World craft awards ปี 2016 , Tiffany and cofoundation 2018 และยังเป็นเจ้าของแบรนด์SARRAN อีกด้วย ได้บรรยายถึงความสำคัญกับการวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งของสินค้า เพื่อนำมาพัฒนาให้เป็นจุดแข็งผ่านการสร้างแบรนด์สินค้า ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าในแต่ละแบบได้สัมมนาหัวข้อที่ 5 “อัญมณี ราศีสุดปัง” โดยอาจารย์ช้าง ทศพร ศรีตุลา ได้บรรยายถึง อัญมณีที่มีความผูกพันกับความเชื่อมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการที่ชาวอียิปต์นำอัญมณีมาทำเครื่องประดับ เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย ความเชื่อเรื่องนพรัตน์หรืออัญมณีมงคล 9 ชนิด และความเชื่อเรื่องอัญมณีที่ถูกโฉลกกับราศี เป็นต้น การผลิตสินค้าอัญมณีควบคู่กับความเชื่อนับว่าเป็นอีกทางเลือกที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าได้ รวมถึงการทำอัญมณีที่ช่วยแก้ดวง เสริมความมั่นใจให้แก่ผู้ที่เกิดในปีชง สามารถผลิตอัญมณีที่ช่วยเสริมหรือนำความเชื่อมาผลิตอัญมณีเพื่อการค้าได้

ถัดมาเป็นการสัมมนาหัวข้อ “The Global Market Trends and Disruption of the Industry” โดย Mr.King Hon Kevin NG บริษัท International Jewelery Designers Associationจาก สคต. ณ เมืองฮ่องกง ได้บรรยายถึงประสบการณ์การเริ่มทำธุรกิจในฮ่องกง ในปัจจุบันได้มีการทำอุตสาหกรรมแบบ Smart Manufacturing ที่มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการช่วยการผลิต และเทคโนโลยี 3D printing ทำให้นักออกแบบหรือผู้ผลิต สามารถผลิตอัญมณีตามที่ลูกค้าต้องการและสามารถปรับแก้ส่งแบบให้ลูกค้าตัดสินใจ ก่อนที่จะใช้วัสดุจริงในการผลิตผลงานหรือสินค้า

สัมมนาหัวข้อสุดท้าย “งานดีไซน์สร้างมูลค่าสู่สากล (Design Values to Global)” โดยนายอเนก ตันตสิรินทร์ นักออกแบบรางวัล DE-Mark ปี 2014 เจ้าของแบรนด์ ARQUETYPE ได้บรรยายเกี่ยวกับงานดีไซน์และการออกแบบอัญมณี ว่าเปรียบเสมือนงานศิลปะ แบบที่สวยแสดงแนวคิดและความเป็นตัวตน ย่อมมีคุณค่าและ สร้างมูลค่า จนสามารถมองข้ามต้นทุนของวัตถุดิบไปได้ ที่สำคัญให้สร้าง DNA ของสินค้าและกลุ่มเป้าหมายของลูกค้า (Target) ให้ชัดเจน เพื่อจะช่วยให้สามารถสร้างแบรนด์ของสินค้าได้

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ ได้มีโอกาสได้รับความรู้เกี่ยวกับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในปัจจุบันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และการพัฒนาสินค้าเพื่อโอกาสในการเปิดตลาดไปยังต่างประเทศ รวมถึงได้รับประสบการณ์และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจจนนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าและผลประกอบการได้มากยิ่งขึ้น